![First Principle Concept](https://www.theprojectone.co/wp-content/uploads/2024/07/blog-01-1024x538.jpg)
สิ่งต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นมาบนโลกล้วนต้องมีคนแรกที่ทำสำเร็จทั้งสิ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นมาทุกอย่างล้วนสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้เสมอ แต่เราในฐานะของผู้ที่ต้องการอยากจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ก็มักจะติดกับดักของ ‘สิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้า’ การที่เราจะสร้างสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมจึงเป็นได้ยาก เพราะเรามักจะเอาสิ่งเดิมๆที่มีอยู่ก่อนหน้านั้น มาเป็นกรอบแห่งข้อจำกัดครอบความคิดเราไว้นั้นเอง
“มีแต่คนบ้าเท่านั้น ที่จะทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” – อัลเบิร์ต ไอนสไตน์
ความลับก็คือ เราสามารถสร้างทุกสิ่งขึ้นมาได้ ถึงแม้ว่าเราไม่เคยทำมาก่อนก็ตาม …การเรียนรู้จากอดีต เป็นเครื่องทุ่นแรงอย่างนึงที่ช่วยประหยัดเวลาไปมหาศาลในที่ต้องคลำหาจุดเริ่มต้นและเรื่องที่เราควรรู้เพื่อต่อยอดสร้างสิ่งต่างๆขึ้นมา แต่เคล็ดลับก็คือ เมื่อเราเรียนรู้แล้ว เราควรที่จะลองเอาความรู้พวกนั้นมาประกอบเป็นสิ่งใหม่ ตามความเข้าใจด้วย ‘วิธีการเฉพาะตัว’ ของตัวเราเองดู
First Principle คือแนวคิดการเข้าใจรากฐานการเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ จากการชำแหละเป้าหมายหรือปัญหาที่ต้องการจะแก้ แกะรอยย้อนกลับไปหาต้นตอที่เป็นองค์ประกอบตั้งต้นของมัน แล้วค่อยๆสร้างผลลัพธ์ใหม่ในแบบที่เราอยากให้เป็น จากองค์ประกอบเหล่านั้นขึ้นมาด้วยความรู้ของเรา โดยไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆที่เคยมีมาอยู่ก่อนหน้า
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปี 2002, ชายผู้มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่คือการสร้างจรวดไปดาวอังคาร เมื่อเขาเริ่มศึกษาสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ เขาพบว่าการที่จะสร้างจรวดนั้นมีราคาแพงเกินไป แต่แทนที่ปัญหานี้จะหยุดเขา แต่กลับกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของความท้าทาย เขาตั้งคำถามว่า ‘สิ่งที่เรียกว่าจรวดต้องมีอะไร และ มันสร้างมาจากอะไรบ้าง?’ แล้วเริ่มศึกษาองค์ประกอบต่างๆที่จะมาเป็นจรวดลำนึงได้ ปรากฏว่า เขาหาซื้อวัสดุต่างๆเหล่านี้เองและประกอบมันด้วยความรู้แต่ละส่วนที่เขาศึกษามาอย่างละเอียด ออกมาเป็นจรวดที่มีราคาต้นทุนวัสดุเพียง 2% จากราคาจรวดในตลาดตอนนั้นได้สำเร็จ! พลิกหน้าประวัติศาสตร์นวัตกรรมโลกโดยชายที่ชื่อ Elon Musk ผู้ก่อตั้ง SpaceX ที่ประยุกต์แนวคิดนี้ในการสร้างนวัตกรรมระดับโลกจนประสบความสำเร็จ
การประยุกต์แนวคิด First Principle เพื่อสร้างสิ่งที่ท้าทาย
- ระบุเป้าหมาย หรือ ปัญหาที่ต้องการจะแก้ (Purpose/Problem)
- ชำแหละให้ถึงต้นตอ ให้เห็นถึงองค์ประกอบต่างๆที่เป็นรากฐานของสิ่งนั้นๆ (Components/Forms/Materials)
- ศึกษาองค์ประกอบเหล่านั้นให้ลึกซึ้ง เห็นถึงสิ่งที่เชื่อมโยงกัน
- ประกอบมันขึ้นมาเป็นสิ่งใหม่จากศูนย์ ด้วยความรู้และความสร้างสรรค์ของเรา
- ทดสอบว่าใช้งานได้จริง
ซึ่งกระบวนการที่เป็นพระเอกของเราคือการชำแหละสิ่งต่างๆ เราชำแหละมันด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘การตั้งคำถามที่ดี’ เราอาจจะใช้เทคนิคที่คุ้นหูอย่าง 5-Why หรือ Socrates Questioning มาช่วยได้ แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้นิสัยของความสงสัยในทุกๆสิ่งและกล้าถามมันออกมานั้นเอง
…สุดท้ายนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในบรรดาแนวคิดที่เป็นอาวุธที่ใช้แก้ปัญหาด้วยความสร้างสรรค์ของเหล่านัก Designer, Innovator ,Entrepreneur หรือแม้แต่ทุกๆคนนั้น แนวคิดนี้นับว่าแนวคิด ไม่ธรรมดาที่ควรฝึกฝนติดตัวเวลาที่เราต้องการเอาชนะปัญหาที่ใหญ่กว่าตัวเองได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว เริ่มจากความคิดว่าทางขึ้นยอดเขามันมีได้หลายทาง ความสำเร็จก็มีได้หลายวิธี
จงเป็น ‘คนแรก’ ที่สำเร็จในการทำสิ่งที่ต่างออกไปในรูปแบบของตัวเอง!