![ไคเซ็น Kaizen](http://www.theprojectone.co/wp-content/uploads/2024/09/blog-12-1024x538.jpg)
“การพัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่สิ้นสุด” คือหัวใจหลักในแนวคิดนี้ ปรับให้ดีขึ้นทีละน้อยแต่ต่อเนื่อง โดยที่เน้นให้พนักงานทุกคนร่วมกันพัฒนาปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยที่ยังสามารถคงมาตรฐานไว้ ลดการสิ้นเปลือง รวมทั้งประหยัดต้นทุนและเวลา
ไคเซ็น (Kaizen) แนวคิดการปรับปรุงแบบต่อเนื่องซึ่งสามารถนำมาใช้ได้กับทุกระดับองค์กรไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก เน้นที่การแก้ปัญหาโดยไม่ไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ ในการปรับปรุงอะไรซักอย่างให้ราบรื่น โดยเฉพาะกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process Imrpovement) เพื่อรีดประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด
เราอาจจะได้ยินแนวคิดนี้คร่ำหวอดอยู่วงการโรงงานสายงานการผลิต แต่จริงๆแล้วด้วยตัวคอนเซ็ปนี้เอง เราสามารถประยุกต์แก่นเพื่อเอามาแก้ปัญหากระบวนการธุรกิจ หรือ กิจกรรมต่างๆขององค์กร ไปจนถึงปรับปรุงชีวิตประจำวันเราได้เลย – 改善 : Kaizen แปลว่า การปรับปรุงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า “ไคเซ็น” มาจากการประกอบคำสองคำเข้าด้วยกันคือ “改 : ไค” แปลว่า ‘เปลี่ยน (Improvement)’ และ “善 : เซน” แปลว่า ‘ดี (Good)’ ที่เป็นเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของบริษัทชั้นนำอย่าง Toyota, Nestle และ Ford
ซึ่งไคเซ็นเป็นปรัชญาที่เน้นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการที่จะนำหลักการนี้มาปรับใช้จำเป็นที่จะต้องดูให้รอบถึงความเข้ากันได้ในหลักการ และ ผู้ปฏิบัติ ตั้งแต่ล่างไปถึงบนยอด เพื่อให้แน่ใจได้ว่าสามารถนำหัวใจ 10 ประการนี้ไปปรับใช้ในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตขององค์กรได้อย่างสมบูรณ์
จิตวิญญาณ 10 ประการของไคเซ็น (Kaizen)
- เปิดรับแนวคิดใหม่ๆ ปล่องวางกรอบเดิมๆ: อย่ายึดติดกับวิธีการเดิม ๆ จงเปิดใจรับแนวคิดใหม่ ๆ เพราะการปรับตัวให้เข้ากับแนวคิดใหม่จะช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับการแข่งขันและเหนือกว่าคู่แข่งได้
- รับผิดชอบต่อหน้าที่และเลี่ยงการโทษคนอื่น: ความรับผิดชอบช่วยลดการเสียเวลาและไม่สร้างสภาวะแวดล้อมที่จะเกิดผลลัพธ์ที่ดี หลีกเลี่ยงการโทษกันเอง แต่ควรช่วยกันหาวิธีแก้ไขและรับผิดชอบต่อหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด
- มองบวกและไม่ยอมแพ้: แม้ว่าอาจไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ในครั้งเดียว หรือ เป็นปัญหาที่หินยากที่จะแก้ก็ตาม จงพยายาม และหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะการลองทำดีกว่าการไม่ลงมือทำอะไรเลย
- มั่งมุ่นทีละก้าว ดีกว่าที่จะตามหาความสมบูรณ์แบบ: เพราะการพัฒนาเล็ก ๆ แต่ต่อเนื่องจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ในระยะยาว
- แก้ไขจุดผิดพลากทันทีที่เจอ: การทำผิดพลาดเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การไม่แก้ไขข้อผิดพลาดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ฉะนั้นควรรับผิดชอบและหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำจะดีกว่า เพราะการที่เราเห็นปัญหาที่ไม่แก้ เราก็คือส่วนหนึ่งของปัญหา
- ผลักดันให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา: การให้ทุกคนมีส่วนร่วมไม่เพียงแต่สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง หรือ ความเป็นทีม แต่ยังเปิดโอกาสให้ได้รับแนวคิดใหม่ ๆ ที่หลากหลายในการแก้ไขปัญหาด้วย
- เจาะลึกปัญหาเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง: อย่าแก้ไขปัญหาเพียงผิวเผิน แต่ควรค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ (อาจจะประยุกต์หลักการ 5 Why มาใช้ในการหาต้นตอ)
- เชื่อว่าหลายหัวดีกว่าหัวเดียว: ความรู้และความคิดเห็นของหลายคนมีความหลากหลายและน่าเชื่อถือมากกว่าความคิดเห็นของคนเดียว เพราะแต่ละคนจะให้มุมมองที่อีกคนนึงมองไม่เห็น
- เชื่อถือข้อมูลมากกว่าความคิดเห็น: ข้อมูลที่มีหลักฐานสนับสนุนมีความน่าเชื่อถือกว่าความคิดเห็น ซึ่งช่วยให้องค์กรตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ มั่นใจ
- ไคเซ็นไม่มีจุดจบ: ไคเซ็นเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด ทุกคนในองค์กรต้องมีส่วนร่วมในการปรับปรุงเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องร่วมกัน
ในครั้งถัดๆไปเราจะมาลงลึกถึงวิธีการกันว่า เราจะประยุกต์แนวคิดนี้เพื่อปรับปรุงกระบวนการธุรกิจของเรายังไงกันได้บ้างต่อไปครับ